คุณยายเลียบ ณ หมู่บ้านสิงขรสุวรรณคีรี เมืองตะนาวศรี พม่าใต้
คุณยายเลียบ ณ
หมู่บ้านสิงขรสุวรรณคีรี เมืองตะนาวศรี พม่าใต้
ในการเดินทางของแต่ละครั้ง เรามักจะมีคนที่ให้จดจำอยู่เสมอ
การได้พบกับใครสักคน สำหรับผมแล้วเป็นเรื่องอัศจรรย์อย่างยิ่ง
ถ้าเป็นความเชื่อของชาวพุทธ ก็คงเป็นเพราะเราเคยร่วมทำบุญด้วยกันมาในชาติปางก่อน
ทุกครั้งของการเดินทาง ผมได้พบปะผู้คนมากหน้าหลายตา แต่มีเพียงไม่กี่คน
ที่ผมสามารถจดจำได้เวลาที่กลับมาถึงบ้าน....และแม้เวลาจะผ่านล่วงนานไปมากแค่ไหน เค้าก็ยังคงอยู่ในลิ้นชักความทรงจำของผมเมื่อนึกถึงสถานที่แห่งนั้น
นั่นคือเค้าละ...คนที่พิเศษสุดสำหรับการเดินทางของผมในครั้งนั้น
และนี่คือเรื่องราวมิตรภาพระหว่างผมกับคุณยายเลียบที่หมู่บ้านสิงขรสุวรรณคีรี ณ
เมืองตะนาวศรี พม่าตอนใต้....
คุณยายเลียบ ในวัย 73 ย่าง 74
ในปีนี้ (2560) ยังคงอยู่ดีมีสุข
ร่างกายยังคงแข็งแรง หน้าชื่นตาบาน ดูสดใสทุกครั้งที่ผมแวะเวียนพาญาติพี่น้องจากฝั่งไทยไปเยี่ยมเยียน
ผมไม่เคยนัดหมายคุณยายให้ต้องมารออยู่ใต้ถุนบ้าน
เวลาที่พาคณะทัวร์มาที่หมู่บ้านสิงขรสุวรรณคีรีแห่งนี้
แต่ผมมักจะเห็นคุณยายนั่งอยู่ตรงนั้นเสมอเวลาที่ผมกับคณะทัวร์มาถึง เมื่อผมเห็นแก
สิ่งหนึ่งที่ย้ำเตือนผมเสมอคือหญิงชราคนหนึ่งที่ให้กำเนิดผมและเพราะการงานจึงทำให้เราสองคนจำต้องอยู่ห่างกัน
ผมเห็นแววตาของยายเลียบที่อ่อนโยน และรอยยิ้มดีใจที่ได้พบกันอีกครั้ง ยิ่งทำให้ผมนึกถึงคนทางบ้านที่ยู่ไกลแสนไกลมากขึ้น
บ้านของคุณยายเลียบอยู่ใกลักับวัดสิงขรวราราม นั่นจึงเป็นเหตุให้ผมได้มาพบตะแกในสายวันหนึ่งของกาลต้นฝนเมืองสองปีที่แล้ว....
วันแรกที่พบกันผมก็สอบถามเรื่องราวของคนไทยในหมู่บ้านแห่งนี้ราวกับนักข่าวสัมภาษณ์บุคคลเพื่อลงคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์
แกก็ร่ายชื่อหมู่บ้านคนไทยพลัดถิ่นในถิ่นแถวนั้นมาเสียยาวเหยียด เช่น
หมู่บ้านสงขลา หมู่บ้านมุโพรง หมู่บ้านลำปะเทง หมู่บ้านสองช่อง และหมู่บ้านทองหลาง
เป็นต้น แล้วก็บอกว่า “อยู่ทางนี้
พม่าก็ว่าคนไทย ไปอยู่ทางไทย ตำรวจไทยบอกพม่า ทั้งๆ ที่พูดไทยได้
จะไปอยู่ไทยก็ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีเงินซื้อ อยู่สิงขรมีที่ดินบรรพบุรุษให้ทำกิน
มีญาติพี่น้อง เราเป็นคนไทยเหมือนกันหัวใจเป็นไทยอยู่” หลังจากฟังแกพูดแล้ว
ผมรู้สึกใจหายคล้ายมีก้อนสะอึกมาจุกตรงคอ
ด้วยเหตุผลทางการเมืองและการปกครองยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยุคอาณานิคม และช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
จึงทำให้พวกเขากลายเป็น ‘คนพม่าเชื้อสายไทย’
ตกค้างอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ยายเลียบพูดภาษาไทยเหมือนคนไทยปักษ์ใต้
บ้างก็ว่ามีสำเนียงคล้ายกับคนบางสะพานที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ผมรู้สึกอบอุ่นหัวใจทุกครั้งที่ได้กลับมาเยี่ยมเยียนแกที่หมู่บ้านสิงขรสุวรรณคีรี
ถ้าไม่มีเส้นเขตแดนกั้น คนในหมู่บ้านแห่งนี้ก็คนไทยดีๆ เรานี่เอง ทุกครั้งที่ได้กลับมาเยี่ยมเยียนคุณยายเลียบ
ความรู้สึกของผมเหมือนได้กลับมาหาญาติผู้ใหญ่ที่เคารพท่านหนึ่ง ผมสัมผัสได้ว่าเวลาที่เราเดินทางไปกับความคิด ความรู้สึก
และให้เวลาความคิด ความรู้สึกเดินทางไปกับเรา
เราจะได้เจอกับอะไรที่ตามหามานานหรือหล่นหายไปนานก็เป็นได้ เฉกเช่น คุณยายเลียบที่ทำให้ผมสัมผัสได้ถึงวันชื่นคืนสุขของช่วงชีวิตในวัยเยาว์ที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับแม่
การเดินทางของความคิดและความรู้สึกที่ตกตะกอนและเติบโตขึ้นจากการเดินทางจึงเป็นสิ่งมีค่าที่สุดสิ่งหนึ่งที่การเดินทางมอบให้เรา
20 มีนาคม 2560